น้อยมากที่ เมนูอาหารของไทย จะมี ผักชี เข้าไปเป็นส่วนประกอบหลักในการทำอาหาร เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมองว่า ผักชี เป็นเพียงตัวประกอบในอาหาร เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเมนูข้าวต้ม ที่ต้องจบด้วยการโรย ผักชี หรือเป็นเครื่องเคียงทานคู่กับข้าวเกรียบปากหม้อ
แต่คุณทราบไหมว่า ผักชีที่คนไทยมองว่าไม่สำคัญ แต่กลับไปดังจนกลายเป็นกระแส ผักชีฟีเวอร์ ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2016 ซึ่งคนญี่ปุ่นทานผักชีกันอย่างบ้าคลั่ง นำผักชีไปพอกหน้า ทำเครื่องดื่มผักชี เพื่อสุขภาพ เรียกได้ว่า คนญี่ปุ่น ถ้าคิดจะทำอะไรแล้ว ก็สามารถทำได้แทบทุกอย่าง
อีกทั้ง ผักชียังให้คุณประโยชนตั้งแต่ใบยันราก ทานง่าย แต่ราคาแอบแพง ถ้าใครสนใจจะเพาะปลูกผักชีขาย ก็ถือว่า เป็นทางเลือกในการหารายได้ที่ดีเลยทีเดียว
ซึ่งในบทความนี้ อาจจะทำให้ใครหลายคนเปลี่ยนมุมมอง เห็นความสำคัญของผักชีมากขึ้น และอาจสร้างสรรค์เป็นเมนูใหม่ๆ อาจจะดังเหมือนประเทศญี่ปุ่นเลยก็เป็นได้
ชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์
- Coriandrum sativum L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)
ชื่อเรียกท้องถิ่น
- ผักหอม (นครพนม)
- ยำแย้ (กระบี่)
- ผักหอมป้อม ผักหอมผอม (ภาคเหนือ)
- ผักหอมน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ต้นกำเนิดผักชี
ความจริงแล้ว ต้นกำเนิดของผักชี ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย แต่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศ แถวทะเลเมดิเตอเรเนียน และได้แพร่หลายในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านอารยธรรมโบราณอย่างอียิปต์
อีกทั้ง เมล็ดผักชียังถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์เก่า และพบในโลงศพของตุตันคาเมน ไม่เพียงเท่านี้ ผักชียังถูกใช้เป็นเครื่องเทศใส่อาหาร เป็นส่วนผสมของยาเสน่ห์ หรือยากระตุ้นทางเพศตั้งแต่ยุคกลางอีกด้วย
ไม่เพียงแต่ต่างประเทศที่เพาะปลูกผักชี ประเทศไทยเราก็มีการเพาะปลูกผักชีเช่นกัน ไม่ว่าจะจังหวัดราชบุรี กรุงเทพมหานคร และนครปฐม เป็นต้น
ประเภทของผักชี
หลายคนเข้าใจผิด คิดว่า ผักชีมีเพียงแบบเดียว เรียกผักชีก็เข้าใจแล้ว แต่ในความจริง ผักชีนั้น แยกย่อยไปอีก และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน
ตามท้องถิ่นนั้นๆ ได้แก่ ผักชีไทย ผักชีฝรั่ง ผักชีลาว ผักชีล้อม ซึ่งผักชีที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นผักที่มาจากวงศ์เดียวกัน แต่ต่างกันที่ชื่อเรียกและทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน เท่านั้นเอง
1.ผักชี
ผักชี ที่พูดถึงในบทความนี้ คือ ผักชีไทย มีลักษณะคล้ายทรงกลม มีรอยขอบหยักเหมือนใบพัด ด้วยความที่ผักชีเป็นพืชล้มลุก จึงมีอายุสั้น สามารถเจริญเติบโตได้เพียง 1 ปีเท่านั้น
สำหรับผักชี ผักที่คนส่วนใหญ่มองข้าม มักจะนำไปตกแต่งบนจานอาหาร เพิ่มกลิ่นหอมให้อาหารดูน่าทาน บ้างก็ทานคู่กับข้าวเกรียบปากหม้อ
แต่คุณรู้ไหมว่า ผักชีสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน ตั้งแต่ใบ ลำต้น ราก และเมล็ด อย่างรากผักชี คุณสามารถนำไปทำเป็นกุ้งผัดไข่เค็ม หมูนุ่มรากผักชี ส่วนเมล็ดหรือลูกผักชี ก็สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องเทศในแกงได้ เช่น แกงเขียวหวาน แกงมัสมั่น เป็นต้น
2.ผักชีฝรั่ง
ผักชีฝรั่ง เป็นพืชล้มลุก มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้และประเทศเม็กซิโก แตกต่างจากผักชีไทยตรงที่มีลักษณะเป็นใบรียาวและขอบหยัก ผักชีฝรั่งเหมาะมาก หากนำไปทำลาบ ต้มแซ่บ
3.ผักชีลาว
ผักชีลาว มีลักษณะเป็นเส้นฝอย ดอกเป็นสีเหลือง ส่วนเมล็ดผักชีลาว สามารถนำไปทำเป็นยาได้ แต่ถ้าหากนำผักชีลาวไปประกอบอาหาร
แนะนำเป็นแกงอ่อม น้ำพริกปลาร้า พูดได้คำเดียวว่า.. อาหร่อย แต่สำหรับประเทศทางตะวันตก นิยมนำผักชีลาวไปต้มเป็นชาสมุนไพร หรือไม่ก็นำไปโรยบนสลัดผัก
4.ผักชีล้อม
ผักชีล้อม มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน อย่างภาคกลางกับภาคเหนือ จะเรียกว่าผักอ้นหรืออ้นอ้อ (เชียงใหม่) และผักหนอกช้าง (น่าน) ผักชีล้อม
มีลักษณะใบแบนรี ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ดอกของผักชีล้อมจะมีสีขาว ชอบขึ้นในที่ชื้นและน้ำตื้น ใครที่ชอบทานกิมจิ ต้องชอบแน่ๆ เพราะผักชีล้อมสามารถนำไปทำเป็นผักดองเกาหลีได้
ปลูกผักชีช่วงไหน ถึงจะเหมาะสม
สมัยนี้ การปลูกผักทานเอง หรือการปลูกผักขาย ถือเป็นเรื่องดี เพราะอย่างแรกเลย เราไม่ต้องเสียเงิน ไม่เสี่ยงกับยาฆ่าแมลง และเรายังรู้สึกภูมิใจอีกด้วยซ้ำว่า สิ่งที่เราตั้งใจปลูก หมั่นรดน้ำ คอยเอาใจใส่ทุกวัน วันนี้ มันผลิดอก ออกผลแล้วนะ
แต่สำหรับใครที่อยากปลูกผักชี แต่ยังไม่มีความรู้ทางด้านนี้ คุณมาถูกทางแล้วค่ะ ก่อนอื่นคุณต้องทราบก่อนว่า ผักชี เหมาะกับพื้นดินแบบไหน สภาพอากาศต้องเป็นอย่างไร
สำหรับผักชี สามารถเติบโตได้ในดินร่วนปนทราย แต่ถ้าบ้านมีดินเหนียวล่ะ ทำอย่างไร ? ถ้าถามว่า ดินเหนียวสามารถปลูกผักชีได้ไหม ปลูกได้ค่ะ แต่ในการเตรียมดินนั้น คุณต้องเตรียมดินให้มีการระบายน้ำได้ดีเช่นกัน และดินควรมีอินทรียวัตถุสูง
การปลูกผักชีในหน้าฝน ถือว่าไม่เหมาะอย่างมาก เพราะเมื่อฝนตกลงบนผักชี ผักชีจะช้ำ และเมื่อต้นผักชีช้ำ พอโดนแสงแดดเผา ผักชีก็จะเน่าตาย ส่วนถ้าใครมีพื้นที่บ้านไม่มากพอ คุณสามารถปลูกผักชีในกระถางได้เลย หรือถ้าใครมีไร่ หรือพื้นที่กว้าง สามารถปลูกบนแปลงดินได้เลยค่ะ
ขั้นตอนการเตรียมดิน
สำหรับใครที่เตรียมแปลงดินในหน้าหนาว ไม่ต้องทำแปลงแบบยกสูง แต่ถ้าใครต้องการเตรียมแปลงดินในช่วงหน้าฝนจริงๆ จำเป็นที่จะต้องยกสูง เพื่อให้อยู่เหนือระดับน้ำ เวลาฝนตก น้ำจะได้ไม่ท่วมขัง
1.) เตรียมแปลงดินปลูก โดยการพรวนดิน
2.) เมื่อพรวนดินเสร็จแล้ว ให้ตากดินเป็นเวลา 4 วัน หรือ 1 สัปดาห์
3.) เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด จากนั้น ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยขี้วัว (ที่ผ่านการตากแดดแล้ว 1-2 สัปดาห์) มาปรุงดิน
ปรุงดิน คืออะไร ? ปรุงดิน คือ การคลุกเคล้าระหว่างปุ๋ยคอกให้เข้ากับดินที่คุณเตรียมไว้ นั่นเอง
4.) นำแกลบดำมาผสมกับดินที่คุณได้คลุกเคล้าไปในขั้นตอนที่ 3 เพื่อให้ดินร่วนซุย
5.) เมื่อเตรียมแปลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรทำสแลนกันแดด จะเป็นสีดำหรือสีเขียวก็ได้แล้วแต่ความชอบ ที่ต้องทำสแลนกันแดดนั้น เพราะผักชีไม่ต้องการแสงแดดที่แรงจนเกินไป แต่ก็ต้องการแดดอยู่ตลอดเวลา เอาใจยากสุดๆ
ขั้นตอนการเพาะปลูก
เมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญ จะเพราะปลูกผักชีอย่างไร ให้โต ซึ่งขั้นตอนนี้ ถือว่ายากพอสมควร ถ้าคุณไม่เอาใจใส่ ไม่คอยหมั่นรดน้ำ ผักชีที่คุณเฝ้ารอดู ก็คงไม่ได้เห็นแน่นอน
1.) นำเมล็ดผักชี ทุบให้แตกเป็นซีก (ไม่ต้องถึงกับละเอียด)
2.) นำผ้าที่ไม่ใช้แล้ว ห่อเมล็ดผักชีไว้ และนำไปแช่ในน้ำ ทิ้งไว้ 1 คืน
3.) เมื่อครบ 1 คืนแล้ว ยกออกมาวางไว้ (ผ้ายังห่อกับตัวเมล็ดอยู่) และนำไปไว้จุดอับแสง หรืออุณหภูมิห้อง 3-4 วัน จนคุณเริ่มเห็นรากขาวๆงอกออกมา
4.) เมื่อรากเริ่มงอก ให้คุณนำเมล็ดที่งอกไปหว่านลงบนแปลงผักที่ได้จัดเตรียมไว้
5.) เมื่อหว่านเสร็จแล้ว นำฟางหรือเศษฟางมาคลุมไว้ และมีการรดน้ำทุกเช้า-เย็น
6.) เมื่อครบ 1 สัปดาห์ คุณจะเห็นต้นกล้าผักชีเริ่มโผล่ขึ้นมาเหนือฟาง แต่คุณต้องเขี่ยฟางออกบ้าง เพราะบางต้นอาจจะแทงไม่ทะลุฟาง
7.) รดน้ำตามปกติ เช้า-เย็น พอครบ 2 เดือน คุณก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลย
เพราะด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลาย ผักชีจนกลายเป็นกระแส
ผักชี นอกจากจะนำไปตกแต่งบนจานอาหาร ถนอมอาหาร ดับกลิ่นคาว กลิ่นเนื้อต่างๆแล้ว แต่คุณทราบไหมว่า..ทุกส่วนของผักชี ยังมีคุณประโยชน์อีกมากมายที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน
ประโยชน์จากใบผักชี
ในส่วนของใบผักชี จะช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย, ลดระดับน้ำตาลในเลือด, ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง, กระตุ้นการทำงานของเลือดพลาสมาและกล้ามเนื้อ, แก้อาการไอ, ไข้หวัด, คลื่นไส้อาเจียน, กระหายน้ำ, อาการอาหารเป็นพิษ, อาการสะอึก เป็นต้น
ประโยชน์จากผลผักชี
สำหรับผลของผักชี ช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น (นำผลแห้งบดจนกลายเป็นผง และนำไปต้มกับน้ำดื่ม), ละลายเสมหะ, บำรุงกระเพาะอาหาร, กระตุ้นต่อมในกระเพาะอาหารและลำไส้, รักษาอาการปวดท้อง, ปวดฟัน (นำผลของผักชีต้มน้ำ แล้วนำมาอมบ้วนปากบ่อยๆ), แก้อาการบิด, ถ่ายเป็นเลือด, ท้องอืด, ท้องเฟ้อ, รักษาโรคริดสีดวงทวาร มีเลือดออก เป็นต้น
ประโยชน์จากต้นผักชี
สำหรับลำต้นของผักชีนั้น จะช่วยขับเหงื่อ (นำต้นผักชีสดประมาณ 60 กรัมต้มกับน้ำดื่ม), ลดอาการปวดบวมตามข้อ, ผื่นแดง, ไฟลามทุ่ง, และยังช่วยให้ผื่นหัดออกเร็วขึ้นอีกด้วย
ประโยชน์จากรากผักชี
สำหรับรากของผักชีนั้น ใช้เป็นน้ำกระสายยา, ไข้อีดำอีแดง (เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส มีผื่นสีแดง มักเกิดขึ้นกับเด็ก 5-15 ปี), เหือดหิด, อีสุกอีใส
หลักการเลือกผักชี
หากคุณต้องการนำผักชีไปประกอบอาหาร วิธีการเลือกผักชีคือ เลือกผักชีที่มีรากขนาดใหญ่ ลำต้นแข็งแรง ใบแข็ง สีเขียวสด ไม่มีดอก
หากทานผักชีไม่หมด! มีวิธีการเก็บรักษาอย่างไร
เป็นไหม พ่อ แม่ หรือย่าใคร เวลาไปตลาด ชอบซื้อผัก เนื้อสัตว์มาตุนเก็บไว้ ทำอาหารทั้งอาทิตย์ เพราะไม่อยากออกไปตลาดบ่อยๆ
สำหรับการเก็บผักชี วิธีง่ายแสนง่าย คือ ตรวจดูผักชีว่ามีใบสีเหลืองไหม ถ้ามีแนะนำให้นำใบสีเหลืองทิ้ง จากนั้น นำไปล้างให้สะอาด ไม่ควรล้างผักอย่างรุนแรง เพราะเดี๋ยวน้องผักชีช้ำ เมื่อล้างสะอาดแล้ว นำไปผึ่งลมให้แห้ง จากนั้น ใส่ลงในกล่องที่มีตะแกรงรองก้นกล่อง พร้อมปิดฝากล่องให้สนิท และใส่ตู้เย็น วิธีนี้ คุณสามารถเก็บผักชีได้นานเป็นสัปดาห์
ประโยชน์ของผักชีมากมายขนาดนี้ ราคาเท่าไหร่กัน?
สำหรับผักชีไทยในบ้านเรา ราคาถูกแสนถูกเมื่อเทียบกับต่างประเทศ หาซื้อได้ง่าย แต่ทราบไหมว่า ผักชีไทยเคยทำราคาสูงสุดถึง 200 บาทต่อกิโลกรัม เชียวนะ! สำหรับใครที่เป็นพ่อค้า-แม่ค้าขายผัก หรือมีธุรกิจร้านอาหาร สามารถเช็คราคาผักได้จากที่นี่เลย ซึ่งจะอัปเดตราคาทุกวัน..
ตลาดนัดเกษตรไพรซ์
ผักชีไทย 20.00 บาทต่อกิโลกรัม (ข้อมูลประจำวันที่ 29 มกราคม 2564)
ตลาดศรีเมือง
ผักชีไทย 20.00 บาทต่อกิโลกรัม (ข้อมูลประจำวันที่ 29 มกราคม 2564)
ตลาดสี่มุมเมือง
ผักชีไทย 20.00 บาทต่อกิโลกรัม (ข้อมูลประจำวันที่ 29 มกราคม 2564)
ตลาดไท
ผักชีไทย 40-50 บาทต่อกิโลกรัม (ข้อมูลประจำวันที่ 25 มกราคม 2564)
เมนูอาหารวันหยุด ที่คนรักทานแล้วต้องติดใจ!
พูดถึง ผักชี ก็คงหนีไม่พ้นกับเมนูอาหารเกี่ยวกับผักชี หากพ่อครัว-แม่ครัวคนไหนคิดว่า ผักชี นำมาประกอบอาหารไม่อร่อย แค่ตกแต่งบนจานอาหาร หรือนำไปใส่ในต้มจืดหมูกรุบกริบก็เพียงพอแล้ว เปลี่ยนความคิดด่วนเลย
หากคุณเจอเมนูเด็ดนี้ไป รับรองได้เลยว่า คุณต้องติดใจอย่างแน่นอน คุณอาจจะนั่งทานเมนูน้องผักชีทุกวันเลยก็ได้ ซึ่งเราได้จัดเตรียมเมนูสุดง่าย ที่คุณสามารถทำให้คนรักทานได้ ใช้เวลาไม่นาน แต่สูตรนี้ รสชาติไม่บ้านๆนะ คนรักทานแล้ว หลงทั้งชาติแน่นอน ..
หมูนุ่มรากผักชี
สำหรับใครชอบทานหมูกระเทียมกันอยู่แล้ว บอกก่อนว่า หมูนุ่มรากผักชี ก็มีดีไม่แพ้กัน หมูนุ่มๆที่หมักไว้ รสชาติที่แสนกลมกล่อม กับกลิ่นหอมของรากผักชี พร้อมทานกับข้าวสวยร้อนๆ อื้อหือ..คิดภาพตามก็หิวแล้วค่ะ
และเมนูหมูนุ่มรากผักชีนี้ ถือว่า รากผักชี เป็นตัวเอกของเมนูนี้เลยก็ว่าได้ ถ้าไม่มีรากผักชี ก็กลายเป็นเมนูหมูผัดธรรมดา นั่นเอง ซึ่งวิธีการทำไม่ยากเลย ..
ส่วนผสมการหมักหมูนุ่ม สูตรไม่ใส่เบกกิ้งโซดา
1.) หมูสันนอก 3 ขีด
2.) ไข่ไก่ 2 ฟอง (เอาแต่ไข่ขาว)
3.) แป้งข้าวเจ้าหรือแป้งมัน ส่วนนี้กะตามปริมาณหมูเลย
4.) น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ (ยี่ห้ออะไรก็ได้)
วิธีการหมักหมูนุ่ม
1.) นำหมูสันนอกที่หั่นไว้ใส่ชาม
2.) นำไข่ขาว 2 ฟอง, น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ, แป้งข้าวเจ้าหรือแป้งมัน, ใส่ลงไปในชามหมูสันนอกที่เตรียมไว้ จากนั้น คลุกเคล้าให้เข้ากัน
3.) เมื่อคลุกเคล้าจนเนื้อหมูสันนอกและส่วนผสมอื่นๆ เข้ากันแล้ว นำหมูสันนอกที่หมักเสร็จเรียบร้อย ใส่ในภาชนะที่มีฝาปิด เท่านั้น
4.) จากนั้น นำไปแช่ตู้เย็น ในช่องธรรมดาประมาณ 12 ชั่วโมง
5.) หากครบ 12 ชั่วโมง ต้องการนำมาประกอบอาหาร ควรล้างเครื่องหมักทั้งหมด และเมื่อเวลานำไปประกอบอาหารหมูจะเด้ง นุ่ม น่าทาน
*สูตรนี้ สามารถนำไปทานเป็นสุกี้ ปิ้ง ย่าง นึ่งได้ตามใจชอบเลยค่ะ
ส่วนผสมเมนูหมูนุ่มรากผักชี (สำหรับทาน 2 ท่าน)
1.) หมูนุ่มที่หมักไว้แล้ว 3 ขีด
2.) รากผักชีทุบพอแหลก 6 รากใหญ่
3.) คนอร์ขวดซอสข้นปรุงรส รสไก่ 2 ช้อนโต๊ะ
4.) ซีอิ๊วขาว1 ช้อนโต๊ะ
5.) น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา
6.) พริกไทยปลายช้อน
7.) กระเทียมปอกเปลือกบุบให้แตก1/2 หัว
8.) น้ำมัน 1 – 2 ช้อนโต๊ะ
9.) ผักชีแต่งหน้า (ปริมาณแล้วแต่เราจะตกแต่งเลยค่ะ)
วิธีทำ
1.) นำหมูที่หมักไว้ออกมาวาง จากนั้นใส่รากผักชีที่ทุบไว้แล้วลงไป นำไปคลุกเคล้าให้ส่วนผสมเข้ากัน ทิ้งไว้ 30 นาที
2.) เตรียมกระทะ เทนำมันลงไป เมื่อน้ำมันเริ่มร้อน ใส่กระเทียม ผัดกระเทียมจนกระเทียมเหลืองหอม กรอบนิดๆ
3.) นำหมูที่หมักรากผักชีไว้ ใส่ลงในกระทะ
4.) เมื่อผัดจนหมูพอสุก จากนั้น ใส่เครื่องปรุง คนอร์ขวดซอสข้นปรุงรส, ซีอิ๊วขาว, น้ำตาลทราย, พริกไทย, และชิมดูว่าถูกปากไหม ถ้ารสชาติยังไม่โอเค ก็ค่อยๆเพิ่มเครื่องปรุง
5.) เมื่อรสชาติใช้ได้แล้ว ตักใส่จาน แต่งหน้าด้วยใบผักชี พร้อมเสิร์ฟ
ยำผักชี
ใครสายยำ ชอบความเผ็ดซี๊ดซ๊าด ห้ามพลาด! ส่วนใหญ่ เมนูพื้นฐานก็จะเป็น ยำมาม่า ยำเล็บมือนาง แต่สำหรับเมนูนี้แล้ว ถ้าจะทำเมนูยำแบบที่กล่าวมา ก็จะดูเชยไป เพราะเมนูนี้ คือ ยำผักชี แค่สีสันก็น่าทานแล้วใช่ไหมคะ อย่ารอช้า ไปเข้าครัวกันเลย..
ส่วนผสมน้ำยำ
1.) น้ำตาลปี๊บ 2 ก้อน
2.) น้ำปลา 5 ช้อนโต๊ะ
3.) น้ำมะขามเปียก 5 ช้อนโต๊ะ (แช่มะขามเปียกในน้ำอุ่น)
วิธีทำน้ำยำ
1.) ใส่น้ำปลา น้ำมะขามเปียก และน้ำตาลลงไปในหม้อ
2.) นำหม้อตั้งเตาไฟกลาง คอยคนจนน้ำตาลละลาย ชิมรส เปรี้ยวเค็มหวานได้ตามใจชอบ จากนั้น ยกลงพักไว้ให้เย็น
ส่วนผสมอื่นๆ
1.) ผักชี 1 ขีด (ซอยผักชีขนาด 1 เซนติเมตร)
2.) แคปหมูติดเนื้อ 10 ชิ้นหั่นเป็นชิ้น (หั่นแคปหมูเป็นชิ้น)
3.) หอมซอยเจียว 15 ลูก (เจียวจนเหลือง)
4.) พริกแห้งทอด 6-7 เม็ด (เจียวจนพอง สีเข้ม)
วิธีทำ
1.) เมื่อส่วนผสม (หอมซอยเจียว, พริกแห้งทอด, แคปหมู, ผักชี) ที่เตรียมไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้น นำส่วนผสมใส่ลงในชาม
2.) ใส่น้ำยำที่เย็นแล้ว ลงไปคลุกเคล้า พร้อมเสิร์ฟ
หมายเหตุ : ไม่ควรทานผักชีมากเกินไป เพราะจะทำให้กลิ่นตัวแรง ตาลาย และถ้าเป็นโรคไต ไม่ควรทานอย่างมาก เพราะในผักชีมีโพแทสเซียมสูง
Resoure :
https://www.sanook.com/health/4377/
https://cookpad.com/th/recipes/10875372-
https://www.wongnai.com/recipes/ugc/6177744b4cd743d6a0bcf4877305d83f
https://medthai.com/%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%B5/