อาหารทะเลเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่คนนิยมบริโภคและผู้ประกอบการร้านอาหารก็นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารเนื่องจากสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าของเมนูได้อย่างดีเยี่ยม หากแต่การเลือกซื้อ คัดสรรวัตถุดิบอาหารทะเลนั้น จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงแหล่งหาซื้อวัตถุดิบและฤดูกาลให้ดี เพราะหากทำการซื้อนอกฤดูกาลของวัตถุดิบนั้น ๆ ก็อาจจะทำให้หาได้ยาก ได้วัตถุดิบที่มีขนาดเล็ก ไม่สดใหม่ หรือหากอยู่ห่างไกลจากแหล่งวัตถุดิบ ระยะทางและเวลาในการขนส่งอาจทำให้วัตถุดิบเกิดความเสียหายได้
การนำวัตถุดิบจากท้องทะเลมาผ่านกรรมวิธีแช่เยือกแข็งให้กลายเป็นอาหารแช่แข็ง จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีของผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่จะช่วยอำนวยความสะดวก ประหยัดเวลาและขั้นตอนในการจัดการวัตถุดิบ สามารถมั่นใจได้ว่าจะหาซื้อมาใช้ประกอบอาหารตามต้องการได้แม้จะไม่ใช่ฤดูกาลของวัตถุดิบนั้น แต่จะยังคงได้รับวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ที่คงความสดใหม่ของวัตถุดิบจากท้องทะเลได้เป็นอย่างดี
วัตถุดิบจากทะเลที่นำมาทำอาหารแช่แข็ง
หากพูดถึงอาหารทะเลสดที่มักนำมาผ่านกรรมวิธีเป็นอาหารแช่แข็ง คนส่วนใหญ่ก็มักจะต้องนึกถึง
- ปลาทะเล
- กุ้ง
- ปู
- กั้ง
- ปลาหมึก
- หอย
ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้มักต้องอาศัยเวลาในการขนส่ง และโดยปกติแล้วมักจะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมคือในน้ำ และต้องมีอุณหภูมิที่เย็น หากนำขึ้นมาจากน้ำ หรืออยู่ในอุณหภูมิปกติอาจทำให้วัตถุดิบเกิดการเน่าเสียได้ง่าย การนำมาทำเป็นอาหารแช่แข็งจึงเป็นกรรมวิธีที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาให้สามารถอยู่ได้นานกว่าปกติ และสามารถนำมาใช้ได้เมื่อต้องการ
ขั้นตอนการแปรรูปอาหารทะเลเป็นอาหารแช่แข็ง
- เก็บรักษาคุณภาพอาหารทะเล ด้วยการควบคุมอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส โดยการใช้น้ำแข็งผสมเกลือ เก็บในน้ำทะเลผสมน้ำแข็งที่เย็นจัด หรือเก็บรักษาในห้องเย็น
- ทำการล้างทำความสะอาด เพื่อจำกัดสิ่งปนเปื้อน และลดปริมาณจุลินทรีย์เริ่มต้นในวัตถุดิบ โดยใช้น้ำสะอาดผสมคลอรีนที่ระดับความเข้มข้น 3-5% และอาจเติมเกลือเพื่อลดอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ในการล้าง ที่สำคัญต้องทำการล้างทำความสะอาดหลายครั้ง เนื่องจากสิ่งปนเปื้อนที่ติดมากับวัตถุดิบอาจมีในปริมาณสูง
- ทำการตัดแต่งขั้นต้น ซึ่งเป็นการนำส่วนที่ไม่สามารถบริโภคได้หรือไม่เป็นที่ต้องการออก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละวัตถุดิบว่าต้องตัดแต่งหรือจัดการอย่างไร เช่น
- ปลา ต้องทำการตัดหัว ขอดเกล็ด นำไส้และก้างออก
- กุ้ง ต้องทำการ ถอดหัว แกะเปลือก
- ปลาหมึก ต้องทำการลอกหนัง นำกระดองออก ตัดถุงหมึก
- นำไปแช่ในสารละลายเพื่อปรับปรุงเนื้อสัมผัส ช่วยให้อุ้มน้ำได้ดี เป็นการรักษาความสดใหม่ของอาหารทะเล
- ทำการตัดแต่งขั้นสุดท้าย เนื่องจากการตัดแต่งเป็นเพียงการนำชิ้นส่วนที่ไม่ต้องการของวัตถุดิบนั้น ๆ ออกไป การตัดแต่งในขั้นนี้จะเป็นการตัดแต่งให้มีลักษณะตามที่ตลาดผู้บริโภคต้องการ เช่น แล่ หั่นเป็นชิ้น ให้มีขนาดและรูปร่างที่สวยงาม
- ขั้นตอนสุดท้ายจะถูกนำไปคัดคุณภาพ คัดขนาด ชั่งน้ำหนัก เพื่อนำไปบรรจุลงบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งจำหน่ายต่อไป
ที่มา : ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร
กรรมวิธีการทำอาหารแช่แข็ง เป็นการลดอุณหภูมิให้อยู่ในระดับความเย็นที่สามารถกักเก็บ รักษาความสดของอาหารทะเลไว้ได้ รวมถึงยังยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย อีกทั้งยังมีการล้างทำความสะอาด นำชิ้นส่วนที่ไม่ต้องการออก และตัดแต่งให้มีลักษณะสวยงาม อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ทำให้สะดวก และประหยัดเวลาสำหรับผู้บริโภค และผู้ประกอบการที่ต้องการเลือกซื้อไปใช้ประกอบอาหาร
การเพิ่มมูลค่าอาหารทะเลแช่แข็ง
อาหารทะเลแช่แข็งที่สามารถพบเห็นได้ตามตู้แช่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนมากจะเป็นรูปแบบอาหารทะเลสด ที่มีการแกะเปลือก หั่น ตัดแต่งเป็นชิ้น ๆ พร้อมสำหรับการนำไปประกอบอาหารต่อ แต่ปัจจุบันได้มีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งเหล่านี้ โดยผ่านขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบที่มากมายหลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งการปรุงสุก เช่น นึ่ง ต้ม การชุบแป้ง ชุบเกล็ดขนมปัง หรือผ่านการประกอบเป็นเมนูอาหาร แล้วนำมาแช่เยือกแข็ง เพื่อให้นำไปอุ่นร้อนเป็นเมนูพร้อมเสิร์ฟ หรือพร้อมรับประทานได้ทันที โดยไม่ต้องนำไปประกอบอาหารซ้ำ เป็นการเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และความแปลกใหม่หลากหลายให้กับอาหารทะเลแช่แข็งได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเมนูอาหารสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่เลือกใช้อาหารทะเลแช่แข็งได้อีกด้วย
เช็คราคาและสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ MakroClick