ภาพถ่ายเมนูอาหาร เป็นหัวใจสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจร้านอาหาร เพราะเป็นด่านแรกที่จะเปิดใจ ดึงดูดใจให้ลูกค้ามาลองใช้บริการ
ยิ่งเราถ่ายภาพออกมาได้สวย ดูน่ากิน ดูมีราคาแพงมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสขายดีได้มากขึ้นเท่านั้น โดยที่ยังไม่ต้องพิสูจน์รสชาติเลยด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ การถ่ายภาพอาหาร ให้ดูดีมีมูลค่า ไม่ได้จำเป็นต้องจ้างตากล้อง ต้องลงทุนสูงเสมอไป แต่ไม่ว่าใครก็ทำได้เอง เพียงแค่ต้องรู้เทคนิค
ซึ่งในบทความนี้ เราจะพาไปพบกับเรื่องราวต่างๆ ที่ใครๆ ก็ฝึกได้ จนสามารถถ่ายภาพอาหารออกมาได้สวยงามราวกับเป็นช่างภาพถ่ายอาหารมืออาชีพกันค่ะ
เริ่มต้นให้ดี ด้วยการมีอุปกรณ์จัดอาหาร
การจัดอาหารเพื่อถ่ายภาพ จะไม่เหมือนกับการจัดจานอาหารเพื่อเสิร์ฟลูกค้า เพราะอาหารที่เชฟจัดจานมา เมื่ออยู่ในเฟรมกล้อง อาจไม่เด่น ไม่ได้องศามากพอที่จะทำให้ถ่ายภาพออกมาสวยงาม
นอกจากนั้นแล้ว ในการถ่ายภาพยังอาจต้องใช้เวลานาน ซึ่งส่งผลต่อความสดใหม่ของอาหาร เราจึงต้องมีอุปกรณ์เสริมในการช่วยจัดอาหารเพิ่มเติม โดยอุปกรณ์สำคัญที่ควรต้องมี ได้แก่
- ฟ็อกกี้สเปรย์ฉีดน้ำ ไว้ใช้ฉีดพรมน้ำใส่อาหาร ให้ดูสด หรือจะใส่น้ำมันพรมลงบนอาหารให้เกิดความมันวาวก็ได้
- คีมหนีบอาหาร ใช้สำหรับใช้คีบจัดตกแต่งตำแหน่งของวัตถุดิบ เช่น เนื้อ หมู ไก่ ผัก ให้โดดเด่นได้ตามต้องการ
- พู่กัน ใช้สำหรับทาน้ำมันพรมลงบนอาหาร ใช้วาดซอสบนจานให้เป็นรูป ให้ได้ปริมาณที่เหมาะสม
- กรรไกร ใช้ตัดแต่งผัก เครื่องเคียงต่างๆ รวมถึงตัดกระดาษ ผ้า ที่ใช้เป็นฉากพื้นหลังก็ได้
- มีด ใช้หั่นผัก เนื้อสัตว์ หรือวัตถุดิบที่ต้องการ รวมถึงยังใช้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ประกอบเมนูเพื่อถ่ายภาพก็ได้
- แผ่นรองพื้นถ่ายรูป ใช้เป็นกระดาษพิมพ์ลาย ปริ๊นลายที่ต้องการก็ได้ เช่นลายไม้ เพื่อเป็นพื้นรองเมนู
- กระดาษสีต่างๆ ใช้เพิ่มสีสัน คุมโทน จับคู่สีกับอาหาร ให้ภาพออกมามีมิติ มุมมองที่น่าสนใจ
- ผ้า ช่วยเพิ่มองค์ประกอบของฉากพื้นหลังให้ดูมีความหลากหลายมากขึ้น อาจพับ หรือตัดเป็นรูปทรงต่างๆ ก็ได้
แอปพลิเคชั่นถ่ายภาพอาหาร ตัวช่วยมือใหม่ให้กลายเป็นมืออาชีพ
เมื่อเตรียมอุปกรณ์สำหรับจัดอาหารพร้อมแล้ว ลำดับต่อมาก็คือ “โปรแกรมถ่ายภาพ” เพราะกล้องดีๆ ที่ถ่ายรูปสวยๆ นั้นมีราคาสูง
ดังนั้น เพื่อให้มือให้ถ่ายภาพได้อย่างเป็นมืออาชีพมากขึ้น ก็ต้องเลือกใช้โปรแกรมถ่ายภาพดีๆ เข้ามาช่วย โดยโปรแกรมและแอปพลิเคชั่นที่แนะนำสำหรับการถ่ายภาพอาหารให้สวยงามได้นั้น ได้แก่
- Foodie Camara For Life
จัดว่าเป็นแอปพลิเคชั่นยอดนิยมที่สุดสำหรับการถ่ายภาพอาหาร เพราะใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพเป็นเลยก็สามารถใช้แอปนี้ถ่ายภาพอาหารออกมาได้สวยงามราวกับช่างกล้องมืออาชีพ
มีโหมดสำหรับถ่ายอาหารแยกย่อยให้เลือกตามชนิดอาหาร อาทิ โหมดถ่ายขนม โหมดถ่ายเครื่องดื่ม และโหมดอาหารแนวต่างๆ เป็นต้น เรียกได้ว่ามีแอปเดียว ก็ใช้จ่ายเมนูทั้งร้านให้สวยงามได้เลย
- VSCO
อีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีสำหรับการถ่ายภาพอาหาร ซึ่งสามารถถ่ายเป็นภาพวีดีโอเคลื่อนไหวสำหรับโปรโมทด้วยก็ได้ โดยนอกจากการใช้งานง่ายแล้ว
สิ่งที่โดดเด่นของ VSCO คือ การมีฟิลเตอร์ ให้เลือกหลากหลาย ทำให้เพิ่มความโดดเด่นที่แตกต่างให้กับเมนูอาหารได้เป็นอย่างดี ไม่ซ้ำใคร แต่ฟิลเตอร์บางตัวก็อาจต้องค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย
- Adobe Lightroom
ตัวช่วยสุดท้ายไม่ใช่แอปพลิเคชั่นสำหรับถ่ายภาพ แต่เป็นแอปแต่งภาพขั้นเทพที่ถอดแบบมาจากโปรแกรมแต่งภาพในคอมพิวเตอร์ที่มืออาชีพทุกอุตสาหกรรมธุรกิจใช้กันทั่วโลก สามารถเปลี่ยนให้ภาพถ่ายธรรมดาๆ โดยมือสมัครเล่น ให้กลายเป็นภาพถ่ายที่ดูมีความเป็นมืออาชีพได้แบบง่ายดาย
แต่จำเป็นต้องตั้งใจเรียนรู้การใช้โปรแกรมให้คล่องแคล่วเสียก่อน เพราะถือว่ามีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ซับซ้อนพอสมควร แต่ก็เป็นความซับซ้อนเพื่อความสวยงามที่ดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี
อย่าเพิ่งใจร้อน ควรหาภาพต้นแบบก่อน
หลายๆ คนมักเริ่มต้นถ่ายภาพเลยโดยที่ยังไม่มีไอเดียเลยด้วยซ้ำว่า จะถ่ายอย่างไร แบบไหน มุมไหน ให้สวย ซึ่งยิ่งพอเราไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพ ก็ยิ่งทำให้ไม่รู้เลยว่าควรจะถ่ายอย่างไร ส่งผลให้ภาพอาหารที่ถ่ายออกมาดูธรรมดา ไม่โดดเด่น
ดังนั้น ก่อนการถ่ายภาพอาหารทุกครั้ง เราจึงควรทำการบ้านก่อน หาภาพต้นแบบเป็น Reference ในการถ่ายก่อน เพื่อให้เรามีไอเดียในการถ่ายภาพที่หลากหลาย
และยังทำให้การถ่ายภาพนั้นมีลำดับขั้นตอนแผนการ และถ่ายได้รวดเร็วมากขึ้นด้วย โดยการหาภาพต้นแบบนั้น สามารถหาได้ง่าย ใน 3 แหล่งภาพถ่ายอาหารสวยๆ ดังต่อไปนี้
จัดเป็นเว็บไซต์รวมไอเดียดีๆ ในการถ่ายภาพที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งไม่ใช่มีแต่เฉพาะภาพอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาพศิลปะ งานสถาปัตยกรรม แบบบ้านต่างๆ ก็มีครบถ้วนให้เลือกชมได้หลากหลาย จึงทำให้เราเห็นไอเดียในการถ่ายภาพอาหารได้ไม่ยาก
เป็นแอปพลิเคชั่นยอดฮิตในยุคปัจจุบัน ซึ่งเราสามารถติดตามเชฟดังๆ ร้านอาหารดังๆ ทั่วโลกได้แบบง่ายดาย ทำให้เห็นไอเดียการจัดจาน การถ่ายภาพเมนูอาหารหลากหลายชนิดได้จากทั่วทุกมุมโลก แล้วนำมาประยุกต์ปรับใช้กับภาพถ่ายเมนูอาหารของร้านเรา
- Flickr
ฟลิคเกอร์ เป็นเว็บไชต์สำหรับเก็บรูปภาพดิจิตัล จากผู้ใช้งาน เหมือนเป็นแกลอรี่โชว์ภาพถ่ายที่แบ่งปันไอเดียให้คนอื่นๆ ดูได้ ทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการเขียนคำอธิบายลงไปด้วย
จึงทำให้ภาพต่างๆ บนฟลิคเกอร์นั้น แสดงมุมมองความคิดสร้างสรรค์ของผู้ถ่ายได้เป็นอย่างดี สามารถทำให้เราเข้าใจไอเดียในง่ายมากขึ้น และนำมาประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพอาหารของเราได้มากขึ้น
8 เทคนิคถ่ายภาพอาหาร มือใหม่ก็ถ่ายได้แบบมืออาชีพ
เมื่อเตรียมอุปกรณ์จัดอาหารพร้อมแล้ว มีแอปถ่ายภาพและมีภาพต้นแบบเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการลงมือถ่ายค่ะ ซึ่งไม่ต้องกังวลเลยว่าเราจะถ่ายออกมาได้ไม่ดี
เพราะไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเรียนถ่ายรูปมาก่อน เพียงแค่ทำตามเทคนิคต่อไปนี้ ก็รับรองเลยว่าการถ่ายภาพอาหารของทุคน จะให้ผลลัพธ์ที่สวย ดูดี ถูกใจกว่าทุกครั้งที่เคยเป็นมาแน่นอน
1.ถ่ายด้วยมุม 45 องศา
มุม 45 องศา คือมุมปกติที่เราใช้สายตามองอาหารกันมากที่สุด ดังนั้น ภาพอาหารที่ถ่ายออกมาด้วยมุมนี้จึงสร้างความรู้สึกคุ้นเคย และดึงดูดได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ มุม 45 องศา เป็นมุมที่ทำให้เรามองเห็นรายละเอียดของอาหารได้ครบถ้วนมากที่สุด จึงถูกใช้เป็นมุมหลักในการถ่ายภาพอาหารทุกชนิด
ดังนั้น หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นถ่ายจากมุมไหนดี ก็ใช้มุม 45 องศานี้แหละค่ะ รับรองเลยว่า สวย ชัดเจน บอกเล่าเรื่องราวของอาหารได้อย่างครบถ้วนไม่มีตกหล่นแน่นอน
2.ถ่ายภาพแนวตั้ง
ภาพถ่ายแนวตั้ง หรือ มุม 90 องศา จะมีจุดเด่นอยู่ที่การโฟกัสทำให้ภาพอาหารดูเด่นขึ้น เพราะมุมถูกบีบให้แคบลง อาหารจะดูมีความลึกและมีมิติมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
ยิ่งหากได้รับการจัดเรียงคู่กับภาพถ่ายแนวนอน หรือภาพในมุม 45 องศาด้วยแล้ว จะยิ่งเพิ่มมิติความน่าสนใจของเมนูจานนั้นได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ห้ามลืมเด็ดขาดสำหรับการถ่ายภาพแนวตั้ง คือการเตรียมฉากพื้นหลังเรียบๆ คุมโทนสีสันให้เหมาะกับสีของอาหาร มาเตรียมไว้ เพื่อขับเน้นอาหารให้ดูดโดดเด้งมากขึ้น และไม่ต้องมานั่งเสียเวลาตัดต่อให้ลำบากภายหลัง
3.ถ่ายภาพมุม Top View
ถือเป็นมุมถ่ายภาพอาหารที่ยากที่สุด แต่ก็มีความโดดเด่นแปลกตา ไม่เหมือนใคร ให้เห็นมุมมองของอาหารแบบกว้าง และครอบคลุม ซึ่งจุดสำคัญของการถ่ายภาพมุม Top View นั้น ก็คือ ต้องจัดองค์ประกอบภาพให้ดี วางพื้นหลังและสัดส่วนพื้นที่ของฉากให้เหมาะสม
รวมถึงยังควรต้องใช้บรรได หรือเก้าอี้ในการเป็นฐานให้เรายืนถ่ายได้อย่างมั่นคงด้วย เพื่อไม่ให้ภาพหลุดโฟกัส และถ่ายออกมาได้สวยที่สุด
4.ถ่ายแบบ Close Up & Crop ภาพบางส่วน
ภาพ Close Up คือการซูมถ่ายใกล้ๆ เลือกโฟกัสเฉพาะบางส่วน เพื่อโชว์ให้เห็นความโดดเด่นของส่วนสำคัญนั้นๆ ถือเป็นมุมไฮไลท์หนึ่งของการถ่ายภาพอาหาร เช่น การซูมให้เห็นความหนานุ่มของเนื้อสเต็ก หรือความชุ่มฉ่ำ ความสดของผัก สลัด เป็นต้น
ซึ่งเทคนิคนี้สามารถใช้ร่วมกันได้กับการ Crop ภาพบางส่วนออก เพื่อให้เกิดมุมมองที่แปลกใหม่ ตัดองค์ประกอบรายละเอียดบางส่วนทิ้งไป ให้ดูยิ่งเน้นส่วนสำคัญของอาหารได้มากขึ้น
5.ถ่ายให้มีตัวเด่น มีตัวรอง
หนังทุกเรื่องพระเอกนางเอกจะเด่นได้ ก็ต้องมีพระรอง นางรอง ตัวร้าย ตัวประกอบอื่นๆ มาคอยสนับสนุน ภาพถ่ายอาหารเองก็เช่นกัน ที่หากวางจานเดียวโดดๆ ก็อาจเด่นจริง แต่ก็เป็นความเด่นแบบแห้งๆ เพราะอยู่คนเดียวในฉาก
ดังนั้น การเพิ่มองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นตัวรอง อาทิ น้ำจิ้ม แก้วน้ำ เครื่องเคียง เข้าไปเพิ่มเติม ก็จะช่วยให้ตัวอาหารนั้นดูเด่นเป็นพระเอกเพิ่มขึ้นมาได้ชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ เรายังสามารถนำวัตถุดิบหลัก ของเมนูนั้นๆ มาเป็นองค์ประกอบตัวรอง เพื่อสร้างเรื่องราวในภาพให้ดูน่าสนใจได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เช่น เมนูส้มตำ ก็นำเอาพริก มะนาว มะละกอ ฯลฯ เป็นเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของภาพ เป็นต้น
6.เติม Action สร้างสรรค์ให้ภาพมีชีวิตมากขึ้น
ภาพถ่ายอาหารเพียวๆ อาจดูไม่ได้เชื่อมโยงกับผู้คนมากนัก แต่หากเราเพิ่ม Action การตักอาหาร การคน การหยิบจับ คีบต้ม จิ้มจุ่ม ใช้มือ หรือ เป็นภาพในลักษณะของการกัด ชิม สูดดมกลิ่น
มีท่าทางของ “คนกิน” หรือ “คนทำอาหาร” เข้าไปอยู่ในภาพด้วย ก็จะยิ่งเพิ่มสีสัน และความมีชีวิตชีวา ทำให้ภาพดูเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นจริง น่าทาน และเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
7.ทำให้อาหารดูสดใหม่เสมอ
เราต้องไม่ลืมเด็ดขาดว่า วัตถุประสงค์หลักของการถ่ายภาพอาหาร คือ ต้องถ่ายให้ดูน่าทาน ดึงดูดให้คนเห็นอยากลองทานให้ได้มากที่สุด ดังนั้น ความสดใหม่ของอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ซึ่งการใช้น้ำมัน เนย หรือ น้ำ พรม ฉีด ระบาย ลองบนพื้นผิวของอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ สเต๊ก ให้ดูฉุ่มฉ่ำ ไม่แห้งจนเกินไป ถือเป็นวิธีที่ง่ายและตอบโจทย์ ช่วยให้ไม่ต้องทำอาหารใหม่สำหรับใช้ถ่ายบ่อยๆ
แต่อย่างไรก็ตาม หากเราไม่สามารถทำให้อาหารดูสดใหม่น่าทานได้จริงๆ เพราะใช้เวลาถ่ายนานเกินไป การทำใหม่เพื่อนำมาใช้ถ่ายภาพ ก็ยังคงเป็นทางเลือกที่ควรทำอยู่ดี
8.ถ่ายด้วยแสงธรรมชาติในเวลาที่เหมาะสม
ถือเป็นเทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยให้ภาพถ่ายอาหารออกมาดูสวยงาม และน่าทานได้มากยิ่งขึ้น กับการอาศัยแสงธรรมชาติเข้าช่วย โดยเราอาจอาหารไปวางไว้ที่ริมหน้าต่าง ให้แสงส่องถึง หรือหามุมที่แสงส่องผ่านมายังอาหารได้แบบไม่มากจนเกินไป
โดยแสงธรรมชาติที่เหมาะกับการถ่ายภาพอาหาร คือช่วงเวลา 8.00 – 10.00 น. แต่ถ้าเลยช่วงเวลานี้ไปแล้ว ก็ต้องเป็นแสงช่วงประมาณบ่าย 3 โมงเป็นต้นไปจนกว่าแสงจะหมด
ดังนั้น สำหรับการอาศัยแสงธรรมชาติช่วยให้ถ่ายรูปสวยนี้นั้น จึงต้องถ่ายให้ตรงเวลา ให้ทันแสงหมด ไม่เช่นนั้น ชุดภาพอาหารของเราก็จะได้แสงที่ไม่เหมือนกัน คุมตีมอารมณ์ภาพได้ไม่เหมือนกัน
4 เรื่องสำคัญที่ไม่ควรลืม ในการถ่ายภาพอาหาร
เราได้เรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพอาหารแบบง่ายๆ ที่ใครก็สามารถทำได้กันไปแล้ว แต่สุดท้าย ภาพถ่ายอาหารของเราจะออกมาสวยงามได้มากแค่ไหน ก็ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ต้องใส่ใจอยู่อีกค่ะ
โดย 4 เรื่องสำคัญจากนี้ไป แม้จะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่อาจดูเล็กน้อย แต่ก็จะช่วยทำให้ภาพถ่ายอาหารของเราดูพิเศษ สวยงาม น่าทาน และดึงดูดใจลูกค้าได้มากขึ้นไม่น้อยเลยทีเดียว
- กำหนดที่ว่าง วาง Text ใส่ Logo ติดโปรโมชั่นไว้ก่อนเสมอ
แค่ภาพอาหารน่าทานอย่างเดียวไม่ถือเป็นภาพถ่ายเมนูที่สมบูรณ์ได้ เพราะต้องมีชื่อเมนู มี Caption เรื่องเล่าสั้นๆ ของอาหารจานนั้น รวมถึงราคาและโปรโมชั่นอยู่ด้วย จึงจะมัดใจลูกค้าได้อย่างอยู่หมัด
ดังนั้น ก่อนจะถ่ายภาพ จึงต้องกำหนดทุกอย่างเอาไว้ให้พร้อม ว่าจะวาง Text ตรงไหน ใส่ Logo ตรงไหน เพื่อให้ตอนถ่ายภาพ เราเลือกมุม และองค์ประกอบได้อย่างเหมาะสมที่สุด และพอถ่ายภาพเสร็จก็ใช้แอปพลิเคชั่น วางข้อความโลโก้ทุกอย่างให้จบงานพร้อมใช้ได้เลย
- คุมโทน สื่ออารมณ์ในภาพถ่ายอาหารให้เหมาะสม
สีสันภาพถ่ายอาหารของเรา นอกจากจะต้องคำนึงถึงความสวยงามของอาหารแล้ว ยังควรต้องคิดไปถึง “สีสัน” ของแบรนด์ร้านอาหารเราด้วยว่า เข้ากันหรือไม่ ไปในทิศทางเดียวกันหรือเปล่า
หรือต้องคุมโทนอย่างไรให้ออกมาลงตัวมากที่สุด เพื่อให้ภาพถ่ายเมนูอาหารนั้นออกมาสื่อสารกับผู้บริโภคถึงความเป็นตัวตนของร้านได้อย่างชัดเจน
เห็นแล้วจำได้ รู้เลยว่า อ๋อ นี่ร้านใคร นอกจากนั้นแล้ว ในการคุมโทนสีสื่ออารมณ์นั้น ก็ควรคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายของร้านเราด้วยว่าเป็นใคร โทนสีแบบไหนคือความชอบของเขา แล้วบาลานซ์ความเป็นแบรนด์เรากับความชอบของลูกค้าให้เข้ากันพอดีให้ได้มากที่สุด
- ใช้สีตัดกัน เพิ่มความโดดเด่นหยุดสายตา
บางครั้งเราก็อาจจำเป็นต้องเลือกใช้คู่สีที่ตัดกันในการออกแบบสื่อ หรือจัดองค์ประกอบในภาพถ่ายอาหารด้วย เพื่อให้ภาพออกมาโดดเด้ง ดึงดูดสายตาลูกค้าให้ได้มากที่สุด
ยิ่งกับการใช้งานสื่อบนช่องทางออนไลน์ที่ลูกค้ามีโอกาสได้เห็นภาพสื่อ ภาพเมนูอาหารมากมายจากการไถฟีดไปเรื่อยๆ การใช้สีตัดกันที่หยุดความสนใจลูกค้าได้ จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ไม่ควรมองข้าม
- อย่าลืมภาพกระบวนการปรุงอาหารต้องถ่ายเก็บไว้เสมอ
ในเมื่อลงทุนทำอาหารเพื่อถ่ายภาพแล้ว ก็อย่าให้เป็นการลงทุนที่ทำให้ได้แค่ “ภาพอาหาร” อย่างเดียว เพราะในโลกยุคปัจจุบัน การทำ Content Marketing นั้น สำคัญมาก การเล่าเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ จะช่วยดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น กระบวนการทำอาหาร ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบต่างๆ ก็ควรได้รับการถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอเก็บไว้ด้วย เพื่อนำมาใช้ประกอบในการสร้าง Content เล่าเรื่องราวของเมนูนั้นๆว่า
มีที่มาที่ไปอย่างไร กว่าจะออกมาน่าทานได้ขนาดนี้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่งถือเป็นเนื้อหาที่จะช่วยให้ลูกค้า อยากทานเมนูนั้นๆ ของเราได้มากขึ้น
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เป็นหลักการและเทคนิคง่ายๆ เกี่ยวกับการถ่ายภาพอาหาร ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นช่างภาพอาชีพเลย ก็สามารถช่วยให้ถ่ายภาพอาหารออกมาได้ดูสวยงามน่าทานแบบมืออาชีพ
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ภาพถ่ายอาหารของเราออกมาดีที่สุดนั้น ก็คืออยู่ที่การฝึกฝน ทดลองทำจริงค่ะ เพราะระหว่างทางของการทำตามเทคนิคต่างๆ นี้ เราจะได้เรียนรู้ และเกิดไอเดียใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งยิ่งทำมากเท่าไร ก็จะยิ่งถ่ายภาพอาหารออกมาได้ดูดีมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้นแล้ว หลังจบบทความนี้ ก็ขอให้เพื่อนๆ ได้ลองไปทดสอบกันดูนะคะว่า เทคนิคต่างๆ ที่แอดมินแนะนำมา รวมถึงแอปช่วยถ่ายภาพนั้น จะใช้งานได้จริงมากขนาดไหน แล้วอย่าลืมแขร์ภาพสวยๆ มาอวดแอดมันกันด้วยนะคะ^^