มะนาว และเลมอนเป็นผลไม้ตระกูลส้มที่มีคุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์ต่อสุขภาพที่คล้ายคลึงกันมาก อย่างไรก็ตามยังมีความเหมือนและแตกต่างบางประการที่คุณอาจยังไม่ทราบ
1.ความคล้ายกันทางด้านสุขภาพ
- มีวิตามินซีสูง
วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญที่ช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหาย ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารได้มากขึ้นและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งการสร้างคอลลาเจนซึ่งเป็นสารสำคัญในการรักษาบาดแผล
- มีสารฟลาโวนอยด์
ฟลาโวนอยด์ เป็นสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ป้องกันโรคหัวใจและช่วยในการเผาผลาญ การศึกษาในสัตว์ และเซลล์ชี้ให้เห็นว่า ฟลาโวนอยด์มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ
ต้านโรคเบาหวาน ต้านมะเร็ง และป้องกันระบบประสาท อย่างไรก็ตาม จำเป็นยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบในมนุษย์ให้มากขึ้น
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ
นอกจากวิตามินซีแล้วมะนาวและเลมอนยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยปกป้องร่างกายจากความเสียหายของเซลล์ซึ่งดูเหมือนจะมีบทบาทในภาวะสุขภาพเรื้อรังหลายอย่าง เช่น เบาหวาน มะเร็ง และภาวะสมองเสื่อม
- ช่วยลดน้ำหนัก
แหล่งข้อมูลบางแห่งอ้างว่าการบริโภคมะนาวหรือผลิตภัณฑ์จากมะนาวสามารถช่วยลดน้ำหนักได้ น่าจะเป็นผลมาจากปริมาณแคลอรี่ที่ลดลง การออกกำลังกายเป็นประจำ และการปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตที่สำคัญอื่นๆร่วมด้วย
2.ความคล้ายกันด้านโภชนาการ
- สารอาหาร
จากผลการวิจัยตัวอย่าง 100 กรัม ในแง่ของปริมาณธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไฟเบอร์ (3 กรัม) โปรตีน (1 กรัม) และไขมัน (0 กรัม) จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่มะนาวจะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและแคลอรี่น้อยกว่าเล็กน้อย รวมทั้งให้ปริมาณวิตามินซี (88%) ที่มากกว่าเลมอนอีกด้วย
- ความเป็นกรด
ทั้งมะนาวและเลมอนมีกรดซิตริกสูงในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉลี่ยคือน้ำมะนาวมีกรดซิตริกประมาณ 48 กรัมต่อลิตร ในขณะที่น้ำเลมอนมีประมาณ 45.8 กรัมต่อลิตร
3.ความแตกต่างด้านกายภาพ
- สี
มะนาวมักมีสีเขียว ในขณะที่เลมอนมักมีสีเหลืองสดใส อย่างไรก็ตามมะนาวบางชนิดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อสุกทำให้การแยกแยะยากขึ้นเล็กน้อย
- ขนาด
มะนาวมีขนาดเล็กและกลมกว่าเลมอน มีขนาดแตกต่างกันไป แต่โดยปกติจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 นิ้ว (3–6 เซนติเมตร) ส่วนเลมอนมักจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2–4 นิ้ว (7–12 เซนติเมตร) และมีรูปร่างรีมากกว่า
4.ความแตกต่างของรสชาติ
ทั้งมะนาวและเลมอนจะให้รสเปรี้ยวคล้ายคลึงกัน โดยที่มะนาวจะมีรสขมกว่าเล็กน้อย ในขณะที่เลมอนจะมีรสหวานกว่า แต่การรับรู้นี้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละบุคคล
5.การใช้งานที่แตกต่างกันเล็กน้อย
- อาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดมีมะนาวหรือเลมอนเป็นส่วนประกอบเนื่องจากมีรสเปรี้ยว ซึ่งอาจอยู่ในรูปของน้ำผลไม้สำเร็จรูป คั้นสด หั่นเป็นชิ้น หรือชิ้นเนื้อผลไม้ ใช้ในการปรุงอาหาร การถนอมอาหาร หรือเพียงเพื่อให้ได้รสชาติ
- เปลือกของผลไม้มีรสชาติขมอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เป็นที่นิยมในการปรุงอาหาร ตัวอย่างเช่น สามารถใช้น้ำผลไม้หรือเปลือกจากผลไม้ทั้งสองชนิดเพื่อปรุงรส หมักซอส และทำน้ำสลัด
- มะนาวและโหระพายังเป็นส่วนผสมที่ดีสำหรับการหมักไก่และปลา มะนาวเข้ากันได้ดีกับกระเทียมและพริกป่นสำหรับการหมักเนื้อสัตว์
- มะนาวและเลมอน เป็นส่วนเสริมที่ดีสำหรับเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นหลายชนิด ตัวอย่างเช่น น้ำมะนาวคั้นสด หรือชามะนาว
- เนื่องจากความเป็นกรดสูง ผลไม้รสเปรี้ยวเหล่านี้จึงมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ด้วยเหตุนี้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของส้ม จึงมีให้เลือกมากมายตั้งแต่สารฟอกขาวไปจนถึงน้ำยาทำความสะอาดพื้นผิว
- นอกจากนี้การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าน้ำมันหอมระเหยจากมะนาวและผลไม้รสเปรี้ยวอื่นๆ สามารถช่วยผ่อนคลายด้วยการสูดดมและอโรมาเทอราพี
- การใช้คุณสมบัติในการต้านจุลชีพและลดการอักเสบของผิวหนังผ่านการทาด้วยเปลือก
- ในครัวมักใช้มะนาวและเลมอนในลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ตามมะนาวไม่ได้ถูกนำมาใช้ในอาหารหวานบ่อยเท่าเลมอนเนื่องจากความขม
ความเสี่ยง
- การบริโภคมะนาวหรือเลมอนในปริมาณปานกลางโดยทั่วไปมักจะปลอดภัย อย่างไรก็ตามสามารถทำให้เกิดความเจ็บปวดเมื่อสัมผัสกับบาดแผลเปิด เช่น แผลจากหกล้มหรือแผลในปาก
- ความเป็นกรดสูง อาจทำให้อาการเสียดท้องหรือปัญหาทางเดินอาหารแย่ลงในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน (GERD) ได้
- ในปริมาณมาก ผลไม้ที่มีกรดสูงสามารถกัดกร่อนสารเคลือบฟันและทำให้ฟันผุเมื่อเวลาผ่านไป
- เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของส้มหรือสารเคมีระคายเคืองอื่นๆให้ใส่ถุงมือและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง
ตอนนี้เราก็ทราบแล้วว่าทั้งมะนาวและเลมอนต่างก็เป็นผลไม้ตระกูลซิตริกที่มีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกันมาก อุดมไปด้วยวิตามินซีและมีสารต้านอนุมูลอิสระ และฟลาโวนอยด์อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
เราสามารถใช้ผลไม้ทั้งสองชนิดเป็นส่วนประกอบทั่วไปในอาหารและเครื่องดื่มได้หลายประเภท การทำยา รวมทั้งการใช้งานอื่นๆได้หลากหลาย แต่ก็มีคุณสมบัติบางประการที่แตกต่างกัน เลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการของคุณนะคะ
Resource :
https://www.healthline.com
https://www.medicalnewstoday.com