การตั้งราคา อาหาร ถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเป็นตัวช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้ว่าจะสั่งหรือไม่สั่ง ทั้งนี้ แนวทางของ การตั้งราคา เมนูต่างๆ ไม่ได้มีหลักคิดเพียงแค่ถูกหรือแพง เท่านั้น
แต่มีกลยุทธ์ ลูกเล่นพลิกแพลงหลากหลาย ที่จะช่วยดึงดูดความสนใจให้ลูกค้าอยากสั่งมากขึ้น ในขณะที่ร้านอาหารเองก็ได้รับกำไรตามที่พอใจจากราคาที่ตั้งด้วย
1.Psychology Pricing ตั้งราคาด้วยจิตวิทยาตัวเลข
ราคาเมนูลงท้ายด้วย เลข 9 เช่น 59 69 99 ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น หรือการตั้งราคาลงท้ายด้วยเลข 0 หรือเลข 5 ทำให้คำนวณเลขคิดราคาง่าย ก็ช่วยให้ตัดสินใจสั่งเมนูต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
2.Promotion Pricing ลดราคา ล่อใจลูกค้าเข้าร้าน
เป็นเทคนิคการตั้งราคาให้สูงกว่าปกติและใส่ส่วนลดเข้าไป ให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า แต่จริงๆ แล้วเราก็ได้ขายในราคาที่เราต้องการ
3.Loss Leader Pricing ขายถูกเมนูหนึ่ง แล้วดึงทำกำไรจากเมนูอื่น
เป็นการตั้งราคาเมนูใดเมนูหนึ่งแบบถูกสุดๆ เพื่อดึงให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการและตั้งเป้าทำกำไรจากเมนูอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ข้าวต้มบาทเดียว ใช้ข้าวต้มดึงลูกค้า แต่ได้กำไรจาก “กับข้าว” ที่กินกับข้าวต้ม เป็นต้น
4.Product Set Pricing เน้นขายเมนูเป็นเซ็ต อัพเกรดค่าเฉลี่ยต่อหัว
เป็นการตั้งราคาอาหารชุด เพื่อให้ดูคุ้มและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่น กะเพราไก่ 1 จาน 40 บาท, เซ็ตกระเพราไก่ ไข่ดาว มีน้ำซุป พร้อมน้ำ 69 บาท, ซื้อเป็นเซ็ตจะดูคุ้มกว่า และทำให้ร้านได้ค่าเฉลี่ยต่อหัวต่อบิลเพิ่มขึ้นได้มากกว่า
5.Prestige Pricing ตั้งราคาให้แพงเวอร์ สร้างแบรนด์ให้ดังเวอร์
เป็นการตั้งราคาเมนูใดเมนูหนึ่งให้สูงมากๆฉีกหนีจากเมนูอื่นๆในร้าน และในท้องตลาด เพื่อสร้างความโดดเด่น ดึงความสนใจ ทำให้เกิดกระแสอยากลอง ชวนกันมาลอง แต่ก็จำเป็นต้องทำให้เมนูนั้นๆ มีความพิเศษจริงๆ
6.Decoy Pricing สร้างตัวหลอก ให้ลูกค้าจ่ายแพงกว่า
มักเล่นกับขนาดของเมนู เช่น ไซส์เล็ก 10 บาท, ไซส์กลาง 15 บาท, ไซส์ใหญ่ 17 บาท, ในที่นี้ไซส์กลางคือ ตัวหลอกให้รู้สึกว่าสั่งไซส์ใหญ่เลยคุ้มกว่าเพราะเพิ่มเงินอีกแค่ 2 บาทก็ได้ไซส์ที่ใหญ่ที่สุด