ปัจจุบัน มี ร้านอาหาร ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร ขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ ซึ่งปัญหาที่พบคือ ส่วนมากไม่มีการจดทะเบียนการค้า
หรือบางคนเลี่ยงที่จะจดทะเบียนการค้า ซึ่งในความเป็นจริง การจดทะเบียนการค้า สำคัญกับผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างมากในบทความนี้ จะทำให้คุณเข้าใจและอยากจดทะเบียนการค้ากันมากขึ้น
เลือกหัวข้ออ่าน
ทำไมต้องจดทะเบียนการค้า
เมื่อคุณเริ่มมีธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสถานบันเทิง ร้านอาหาร แม้ธุรกิจนั้นจะมีขนาดเล็ก แต่ถ้าเข้าข่ายที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็จำเป็นที่จะต้องจดทะเบียนการค้าค่ะ
เพราะการจดทะเบียนการค้า จะทำให้รู้ว่า คุณมีการประกอบกิจการอย่างถูกต้องแล้วนะ มีข้อมูลร้านอาหารอยู่ในระบบจริง ๆ ซึ่งส่วนนี้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับร้านอาหารของคุณ
รวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าของคุณอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น คุณยังสามารถนำทะเบียนการค้าใช้เป็นหลักฐานในการกู้ซื้อบ้านและรถได้
การจดทะเบียนการค้า แตกต่าง กับการจดทะเบียนบริษัท อย่างไร
การจดทะเบียนการค้า
การจดทะเบียนการค้า หรือการจดทะเบียนพาณิชย์ เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และเป็นเจ้าของธุรกิจเพียงผู้เดียว ข้อดี คือ คุณทำสิ่งที่ถูกต้องตามที่กฎหมายไทยกำหนด
และคุณสามารถใช้เป็นเอกสารประกอบขอสินเชื่อได้ อีกทั้ง ยังส่งผลให้ร้านอาหารของคุณมีความน่าเชื่อถือ ลูกค้ามั่นใจ เลือกใช้บริการร้านคุณมากขึ้น
การจดทะเบียนบริษัท
การจดทะเบียนบริษัท เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ มีเจ้าของธุรกิจหรือผู้ลงทุน 3 คนขึ้นไป เมื่อมีการจดทะเบียนบริษัทแล้ว จะต้องจัดทำบัญชี, ยื่นประกันสังคมให้พนักงาน เป็นต้น
หมายเหตุ สำหรับเรื่องภาษีที่หลายคนสงสัยว่า ถ้าไม่จดทะเบียนการค้า ก็ไม่ต้องเสียภาษีใช่ไหม ความจริงคือ แม้คุณจดทะเบียนการค้า หรือไม่ได้จดทะเบียนการค้า แต่ถ้าคุณมีรายได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็จำเป็นต้องเสียภาษีอยู่ดีค่ะ
ใครบ้างที่ไม่ต้องจดทะเบียนการค้า
ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องจดทะเบียนการค้านะคะ ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนการค้า ได้แก่
- พ่อค้าแม่ค้าแผงลอย หรือหาบเร่ เพราะว่ามีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง หรือถ้ามีแผงที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ แต่ไม่มีความแน่นอน ก็ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนการค้าค่ะ
- ผู้ประกอบกิจการค้า เพื่อการบำรุงศาสนา และการกุศล
- กระทรวง ทบวง กรม
- มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์
- กลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียน
เอกสารที่ต้องเตรียม
- แบบ ทพ. (คำขอจดทะเบียนพาณิชย์)
- สำเนาบัตรประชาชน ควรดูวันหมดอายุด้วย
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ภาพถ่ายร้านค้า (ต้องมีภาพถ่ายหน้าร้านด้วย สำคัญมาก)
- แผนที่ตั้งร้าน
- ค่าธรรมเนียม 50 บาท
หมายเหตุ เอกสารที่ต้องเตรียม ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ด้วย บางพื้นที่อาจจะมีการเรียกเอกสารเพิ่มเติม และสำหรับที่ตั้งร้าน ถ้าคุณไม่ได้เป็นเจ้าของที่ตั้งร้าน
หรือ แค่เช่าสถานที่เปิดร้านอาหาร จำเป็นต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม คือ หนังสือยินยอมใช้สถานที่ประกอบกิจการและสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้านที่คุณไปขอใช้สถานที่
อีกกรณี ถ้าคุณไม่สามารถยื่นจดทะเบียนด้วยตนเองได้ จำเป็นต้องมีหนังสือมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
ขั้นตอนการจดทะเบียนการค้า
- เข้าเว็บไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือคลิก ในหมวด Hot Service เลือกดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
- จากนั้น เลือก ทะเบียนพาณิชย์
- คลิกไฟล์ PDF แบบ ทพ. คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้เลยค่ะ หรือคลิก
- กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน เตรียมเอกสารให้พร้อม และนำไปยื่นที่ฝ่ายปกครองตามเขตท้องที่ที่ร้านค้าของคุณตั้งอยู่ได้เลยค่ะ เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาดำเนินการไม่นานค่ะ เพียงเท่านี้ ถือเป็นอันเสร็จ ร้านอาหารของคุณ ก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนทันที
หมายเหตุ หากคุณมีรายได้จากการขายเกิน 1,800,000 บาท จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
สถานที่ยื่นจดทะเบียนการค้า
สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถยื่นจดทะเบียนการค้าได้ที่ ..
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร รับจดทะเบียนพาณิชยกิจของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร
- ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง รับจดทะเบียนพาณิชยกิจของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ ตั้งอยู่ในท้องที่ของเขตนั้น
สำหรับภูมิภาคอื่น ๆ สามารถยื่นจดทะเบียนการค้าได้ที่ ..
- เทศบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล ที่กิจการตั้งอยู่
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องไปจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ประกอบกิจการ หากใครมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง โทร. 0-2224-1916, 0-2225-1945
ถ้าไม่จดทะเบียนการค้า จะเกิดอะไรขึ้น
หากมีธุรกิจของตนเอง และไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนดจะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีไม่จดทะเบียนต่อเนื่อง จะโดนปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย
การจดทะเบียนการค้า นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการแล้ว ข้อเสียก็ยังน้อยมากอีกด้วย หากเพื่อน ๆ คนไหนที่มีธุรกิจเป็นของตนเอง
เข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด รีบมาจดทะเบียนการค้ากันนะคะ ส่วนใครมีข้อสงสัย หรืออยากแชร์ประสบการณ์ สามารถมาพูดคุยกับพวกเราได้เลยค่ะ