เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ZEN Group คือยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจร้านอาหารเจ้าหนึ่งของเมืองไทย โดยปัจจุบันมีแบรนด์ร้านอาหารรวมทั้งสิ้น 12 ร้าน อาทิ ZEN, AKA, On The Table และตำมั่ว เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทุกแบรนด์ของ ZEN นั้นเน้นหนักไปที่การทำตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น และจับกลุ่มเป้าหมายที่ระดับกลางถึงสูงขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันนั้นมีการแข่งขันค่อนข้างสูง จึงทำให้ปีนี้ และในอีก 5 ปีข้างหน้า ZEN มุ่งปรับกลยุทธ์ใหม่โดยรุกเข้าสู่ตลาดอาหารไทยสไตล์ Street Food จับกลุ่มลูกค้าแมส โดยมีเรือธงอย่างร้าน “เขียง” เป็นตัวชูโรง
“เขียง” ร้านอาหารบนดิน ที่ใครกินก็ได้
แบรนด์ร้านอาหารส่วนใหญ่ในเครือ ZEN Group นั้น มักจะอยู่บนห้างเป็นหลัก แต่สำหรับเขียงจะต่างออกไป โดยจะเป็นร้านอาหารที่หาพบได้ตามปั๊มน้ำมัน ปตท. และเป็นร้านอาหารไทยสไตล์ Street Food ที่ทุกคนคุ้นเคย ในราคาคุ้นเคย ที่ 50-50 บาท อาทิ ข้าวผัดกะเพรา สุกี้ ผัดซีอิ๊ว เป็นต้น โดยจากการทดลองเปิดตัวร้านเขียงไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ผลปรากฎว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วอย่างน่าพอใจ ซึ่งปัจจุบันเขียงมีสาขาในประเทศแล้วทั้งสิ้นประมาณ 40 สาขา แต่ละสาขามียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ราว 8 แสน ถึง 1 ล้านบาทต่อเดือน นั่นจึงทำให้ ZEN Group ตั้งเป้าขยายสาขาเขียงให้ได้ 1,000 สาขาภายใน 5 ปีนับจากนี้ เพื่อค่อยๆ เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับธุรกิจร้านอาหารไทย และหวังเอาไว้ว่าเขียงจะทำรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทด้วยเป้า 5 พันล้านบาทในอนาคต
กลยุทธ์แฟรนไชส์ ขยายสาขาแบบมีสไตล์ ด้วยการกระจายทั่วประเทศ
ด้วยความที่เน้นความเป็นไทย Street Food นั่นจึงทำให้กลยุทธ์ของการขยายสาขานั้นเน้นไปที่ความคล่องตัว เปิดง่าย และทำให้ลูกค้าเข้าถึงร้านค้าได้ง่าย โดยรูปแบบโมเดลในการขยายสาขาของเขียงนั้น มีอยู่ด้วยกัน 6 สไตล์ ได้แก่
1. รูปแบบ Full Model ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station
2. รูปแบบ Kiosk หรือ Khiang to go โดยเป็นการให้บริการแบบซื้อกลับบ้าน Take A Way
3. รูปแบบบริการในศูนย์อาหาร (Food Court)
4. รูปแบบบริการภายในศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall)
5. รูปแบบ Fresh Food / Counter Bar ให้บริการใน Tesco Lotus
6. เขียงทอง (Premium street food) เป็นโมเดลเขียงพรีเมียมสำหรับจับตลาดกลุ่มบน
เนื่องด้วยมีรูปแบบของการขยายแฟรนไชส์ที่หลากหลาย และมีพันธมิตรสำคัญอย่าง PTT ซึ่งมีสาขาปั๊มน้ำมันอยู่มากมายทั่วประเทศไทย จึงทำให้เป้าหมายของเขียงในอีก 5 ปีที่ต้องการมี 1,000 สาขานั้น ดูเป็นเรื่องไม่ไกลเกินเอื้อม และสำหรับค่าใช้จ่ายประมาณการในการซื้อแฟรนไชส์ร้านเขียงนั้น ก็จะมีสิ่งที่จำเป็นต้องจ่ายได้แก่ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายเดือนอัตราคงที่ 5 ปี แล้วก็ค่าก่อสร้างร้าน ซึ่งรวมๆ แล้วเป็นเงินทุนประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งคาดว่าจะคืนทุนได้ภายใน 2-3 ปี
การบุกตลาดของ ZEN Group ทำให่เรามองเห็นอะไรบ้าง
จากแผนการรุกตลาดอาหารไทยของของ ZEN Group นั้น ทำให้เรามองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้ผู้ประกอบการทุกคนจะรู้สึกว่าธุรกิจร้านอาหารปัจจุบันมีการแข่งขันอย่างรุนแรง แต่เป้าหมายของ ZEN ก็ทำให้เราเห็นว่า ยังมีแนวโน้มของการเติบโต และช่องว่างส่วนแบ่งทางการตลาดอีกมากให้สามารถที่จะช่วงชิงได้ ในขณะเดียวกัน กับกระแสร้านอาหารญี่ปุ่นที่ฮอตฮิตนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ก็ปัจจุบันก็อาจจะอยู่ในจุดที่ร้อนแรงเกินไป จนทำให้ช่องว่างส่วนแบ่งทางการตลาดของอาหารไทยสไตล์สตรีทฟู้ด ดูเป็นอะไรที่เย้ายวนมากกว่า เพราะคนไทยคุ้นเคยถูกปากอยู่แล้ว ประกอบกับถ้าเทียบกับการทำร้านอาหารญี่ปุ่น ก็ถือว่ามีคู่แข่งน้อยกว่า และไม่ค่อยแข็งมาก หากลงมาทุ่มเทเต็มที่ ก็ยังมีโอกาสชนะได้มากกว่า