ใบอนุญาตที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรมี .

ใบอนุญาตที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรมี

นอกจาก ร้านอาหาร จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ต้องมีคือ ใบอนุญาต ซึ่งใบอนุญาตก็จะมีข้อกำหนด

และรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป แล้วเพราะอะไรทำไมใบอนุญาตถึงสำคัญต่อธุรกิจ ร้านอาหาร ถ้าไม่มีใบอนุญาตจะเกิดอะไรขึ้น บทความนี้มีคำตอบ

เลือกหัวข้ออ่าน

ทำไมต้องขอใบอนุญาต ?

การเปิดร้านอาหาร หรือ ขายอาหาร ในทางกฎหมาย ถือเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค หรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยละแวกใกล้ ๆ

ดังนั้น จึงมีการออกกฎหมายมาว่า “ผู้ใดที่จะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหาร ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน” โดยต้องทำหนังสือรับรองการแจ้ง หรือ ขอรับใบอนุญาต

สถานที่จำหน่ายอาหาร และ สถานที่สะสมอาหาร คืออะไร

ก่อนจะเข้าเรื่อง เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า สถานที่จำหน่ายอาหาร และ สถานที่สะสมอาหารคืออะไร

สถานที่จำหน่ายอาหาร 

สถานที่จำหน่ายอาหาร เป็นสถานที่ในการปรุงอาหารและจำหน่ายอาหาร สามารถซื้อแล้วทานได้ทันที หรือนำกลับไปทานในสถานที่อื่น ๆ ได้ สถานที่จำหน่ายอาหาร ได้แก่ ร้านอาหารตามสั่ง, ร้านข้าวราดแกง, ร้านก๋วยเตี๋ยว, ศูนย์อาหาร, โรงอาหาร, ร้านกาแฟ,

ร้านอาหารญี่ปุ่น, ร้านอาหารอิตาเลี่ยน หรือที่ขึ้นชื่อว่า ร้านอาหาร รวมถึงแผงลอยที่จำหน่ายอาหารในพื้นที่เอกชน ซึ่งที่กล่าวมา ยังต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่นและกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารอีกด้วย

สถานที่สะสมอาหาร 

สถานที่สะสมอาหาร คือ สถานที่จัดเก็บอาหารที่มีทั้งของสด ของแห้ง หรือในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อผู้ซื้อจะได้นำไปประกอบอาหาร, เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร, หรือเก็บไว้บริโภคในภายหลัง เช่น ร้านสะดวกซื้อ, มินิมาร์ท, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านขายของชำ เป็นต้น

อีกทั้ง สถานที่สะสมอาหาร จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด รวมถึงควบคุมโรคโควิด-19 และโรคอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย

เมื่อคุณเข้าใจความหมายของสถานที่จำหน่ายอาหาร และ สถานที่สะสมอาหารแล้ว หากคุณเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหาร และเป็นผู้ประกอบการ นอกจากจะต้องทำการจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว

สิ่งที่ควรทำต่อมาคือ  การทำหนังสือรับรองการแจ้ง หรือ ขอใบอนุญาต ทั้งนี้ การขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหารนั้น จะแบ่งตามพื้นที่ประกอบกิจการของคุณ

พื้นที่ประกอบกิจการของคุณ

พื้นที่ประกอบกิจการ ไม่เกิน 200 ตารางเมตร

หากพื้นที่ประกอบกิจการของคุณ ไม่เกิน 200 ตารางเมตร คุณต้องยื่นเรื่องขอรับ “หนังสือรับรองการแจ้ง” (ใบอนุญาตร้านอาหาร/ใบอนุญาตขายอาหาร) มีค่าธรรมเนียม 1,000 บาท

พื้นที่ประกอบกิจการเกิน 200 ตารางเมตรขึ้นไป

หากพื้นที่ประกอบกิจการของคุณเกิน 200 ตารางเมตรขึ้นไป คุณต้องยื่นเรื่องขอรับ “ใบอนุญาต” (ใบอนุญาตร้านอาหาร/ใบอนุญาตขายอาหาร) มีค่าธรรมเนียม 3,000 บาท

หมายเหตุ ค่าธรรมเนียมอาจมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ด้วยค่ะ

หากพื้นที่ประกอบกิจการของคุณไม่เกิน 10 ตารางเมตร ค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ 200 บาทค่ะ

ใครบ้างที่สามารถยื่นคำขอใบอนุญาตได้

  • บุคคลธรรมดา
  • นิติบุคคล

แต่การยื่นคำขอในรูปของบุคคลธรรมดา ผู้ประกอบการต้องมีการจดทะเบียนพาณิชย์ก่อน โดยระบุวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนพาณิชย์ว่า “เป็นการประกอบกิจการร้านอาหารหรือจำหน่ายอาหาร”

ที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ก่อน เพราะว่าในการจะขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารและสะสมอาหาร จำเป็นต้องใช้สำเนาทะเบียนพาณิชย์ร่วมด้วย

สำหรับการยื่นคำขอในรูปของนิติบุคคล ผู้ประกอบการต้องระบุวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหาร หรือธุรกิจร้านอาหารในหนังสือรับรองนิติบุคคล

เอกสารที่ต้องเตรียม สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาต หรือ หนังสือรับรองการแจ้ง

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาทะเบียนบ้านของที่ตั้งร้านอาหาร
  • หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีผู้ขอรับเป็นนิติบุคคล)
  • สำเนาบัตรประชาชนของผู้แทนนิติบุคคล (กรณีผู้ขอรับเป็นนิติบุคคล)
  • หนังสือมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีผู้ประกอบการไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตนเอง)
  • ผลการตรวจสุขภาพหรือใบรับรองแพทย์ของพนักงานผู้สัมผัสอาหาร
  • แผนที่สังเขปแสดงสถานที่ตั้งสถานประกอบการ

หมายเหตุ หากมีสำเนาใบวุฒิบัตรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของกรุงเทพมหานคร หรือ ใบอนุญาตจากส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีโปรดนำมาด้วยนะคะ

สถานที่การยื่นคำขอใบอนุญาต หรือ ขอหนังสือรับรองการแจ้ง

  • สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร
  • สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล
  • สำนักงานเทศบาลสำหรับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล
  • สำนักงานเมืองพัทยา

ขั้นตอนการขอใบอนุญาต หรือ หนังสือรับรองการแจ้ง

เมื่อคุณทราบแล้วว่า ธุรกิจร้านอาหารของคุณ มีพื้นที่เท่าใด และต้องยื่นแบบไหน โดยขั้นตอนการขอใบอนุญาต หรือ หนังสือรับรองการแจ้งมี ดังนี้

  1. เตรียมหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อม
  2. ติดต่อที่สำนักงานเขตที่ตั้งของร้านอาหาร
  3. กรอกแบบฟอร์ม สอ.1 ตามที่เจ้าหน้าที่จัดให้ (ใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือ หนังสือรับรองการจัดตั้ง)
  4. เมื่อกรอกแบบฟอร์มเสร็จเรียบร้อย ยื่นเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่เลยค่ะ หากตรวจหลักฐานถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งในเรื่องสุขลักษณะของร้านอาหาร เจ้าหน้าที่ก็จะเสนอต่อผู้อำนวยการเขต เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการจัดตั้ง
  5. เมื่ออนุมัติให้ออกใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการจัดตั้ง เจ้าหน้าที่จะแจ้งคุณให้มารับเอกสาร พร้อมกับชำระค่าธรรมเนียมภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่คุณได้รับแจ้ง
  6. เมื่อคุณได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการจัดตั้งแล้ว ต้องแสดงอย่างเปิดเผย อาจจะไว้ในร้านอาหารหรือมุมที่ผู้คนเห็น

หมายเหตุ หากเลย 15 วัน คุณไม่มารับใบอนุญาต หรือ หนังสือรับรองการแจ้ง และไม่ชำระค่าธรรมเนียมตามเวลาที่กำหนด จะถูกยกเลิกทันที

ใบอนุญาต หรือ หนังสือรับรองมีอายุกี่ปี ?

มีอายุ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาต และให้ใช้ในเขตนั้น ๆ

หากเปิดธุรกิจร้านอาหาร โดยไม่ได้ยื่นขอใบอนุญาต หรือ หนังสือรับรองอย่างถูกต้อง จะเกิดอะไรขึ้น ?

  • ไม่มีใบอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท
  • ไม่มีหนังสือรับรองการแจ้ง มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท

หมายเหตุ หากฝ่าฝืนข้อบัญญัติท้องถิ่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หากฝ่าฝืนกฎกระทรวง ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

การต่อใบอนุญาต หรือ หนังสือรับรองการแจ้ง

การต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร สามารถยื่นคำขอต่อ (แบบ สอ.5) ได้เลยค่ะ เมื่อชำระค่าธรรมเนียมแล้ว คุณก็สามารถประกอบกิจการต่อได้เลย ส่วนหนังสือรับรองการแจ้ง ไม่ต้องยื่นคำขอต่ออายุรายปีค่ะ แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมทุกปี

ถ้าไม่มีการต่อใบอนุญาต หรือ หนังสือรับรองการแจ้ง จะเกิดอะไรขึ้น?

หากคุณไม่ได้ยื่นเรื่องขอเลิกการดำเนินกิจการต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นอย่างถูกต้อง คุณปล่อยให้ใบอนุญาตหมดอายุ หรือคุณต้องการจะต่อใบอนุญาต แต่ชำระในช่วงที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้ว คุณจะต้องเสียค่าปรับร้อยละ 20 ของจำนวนค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระ

หากใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองแจ้งหายทำอย่างไร ?

หากสูญหาย, ถูกทำลาย, หรือชำรุด ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่สำนักเขตนั้น ๆ เพื่อขอรับใบแทนใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด

หากต้องการแก้ไขรายการในใบอนุญาตร้านอาหารทำอย่างไร ?

สามารถยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อแก้ไขรายการในใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการได้เลยค่ะ

READ  ทำไมผู้ประกอบการร้านอาหาร ควรจดทะเบียนการค้า ?

ใบอนุญาตอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรรู้

นอกจากการขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหารแล้ว หากร้านอาหารของคุณเข้าข่ายตามที่ได้กล่าวไว้ด้านล่างนี้ คุณก็ต้องขอใบอนุญาตเพิ่มด้วย มิเช่นนั้น คุณอาจจะโดนจำคุก เสียค่าปรับได้ค่ะ

ร้านอาหารมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ

  • ยื่นเรื่องขอใบอนุญาตจำหน่ายสุราและใบอนุญาตยาสูบ ที่กรมสรรพสามิตในพื้นที่ร้านอาหารของคุณ โดยใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี
  • สำหรับใบอนุญาตจำหน่ายสุราและใบอนุญาตยาสูบ มีการเสียค่าธรรมเนียมด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณการขายด้วยค่ะ อย่างคุณขายส่งสุราทุกชนิด ครั้งละ 10 ลิตรขึ้นไป คุณจะเสียค่าธรรมเนียมปีละ 5,500 บาท เป็นต้น

หมายเหตุ ต้องยื่นเรื่องขอก่อนนะคะ ถึงจะจำหน่ายได้  แต่ถ้าคุณจำหน่ายโดยไม่มีใบอนุญาต หรือใบอนุญาตไม่ตรงตามที่แจ้งไว้ โดนปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ร้านอาหารมีการเต้นบนเวที, แสดงดนตรีสด, ตลก หรือเข้าข่ายสถานบันเทิง

ในกรณีนี้ คุณต้องยื่นเรื่อง 2 อย่าง คือ  ขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ ขออนุญาตตั้งสถานบริการ

ขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

  • พื้นที่กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ สำนักงานเขต
  • ต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ขออนุญาตตั้งสถานบริการ

  • พื้นที่กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ ตำรวจนครบาล
  • พื้นที่ต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด

ร้านอาหารมีการเปิดเพลงหรือถ่ายทอดสด

ถ้าร้านอาหารเปิดเพลงที่ติดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเปิดจากแผ่นบันทึกเสียง หรืออินเทอร์เน็ต คุณจำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน โดยอัตราค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับเจ้าของลิขสิทธิ์กำหนดค่ะ

ร้านอาหารมีป้ายหน้าร้าน

หากคุณมีจุดประสงค์ เพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดป้ายหน้าร้าน หรือการโฆษณาร้านอาหารตามตึก มีป้ายไฟ ก็ต้องเสียภาษีป้ายค่ะ

ร้านอาหารมีปริมาณอาหารหรือเครื่องดื่มจำนวนมาก และรบกวนผู้อื่น หรือส่งกลิ่นเหม็น

คุณต้องขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

  • สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ สำนักงานเขต
  • ส่วนต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

วัตถุดิบใดบ้างที่มีปริมาณมาก ๆ ต้องขออนุญาต

ปลาร้า, แหนม, น้ำปลา, หอยดอง, น้ำบูดู, ไตปลา, น้ำพริกแกง, ซีอี๊ว, น้ำจิ้ม, ซอสปรุงรสต่าง ๆ, เส้นหมี่, ก๋วยเตี๋ยว, เต้าหู้, เนย, เนยเทียม, กาแฟทุกรูปแบบ, น้ำส้มสายชู, ไวน์, ข้าวหมาก, น้ำแข็ง (รวมถึงการขนส่งด้วย), น้ำอัดลม, น้ำกลั่น, ขนมปังแห้ง, ขนมปังสด, ใบชาแห้ง, ใบชาผง

ร้านอาหารมีก๊าซหุงต้มไว้ครอบครอง

  • แจ้งครอบครองวัตถุอันตราย ถ้ามีก๊าซหุงต้ม ปริมาณน้อยกว่า 1000 กิโลกรัม หรือประมาณ 20 ถังใหญ่
  • ขออนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย ถ้ามีก๊าซหุงต้ม ปริมาณมากกว่า 1000 กิโลกรัม หรือประมาณ 20 ถังใหญ่

พื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการธุรกิจพลังงาน ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานพลังงานจังหวัด

หมายเหตุ หากธุรกิจของคุณมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี คุณต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยนะคะ ที่สำนักงานสรรพากร

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า